top of page

Natural Fashion by จ๋าย ไททศมิตร "เมื่อทุกสิ่งอย่างคือการสื่อสาร ไม่เว้นแม้แต่การแต่งตัว"

อาจจะเคยได้ยินคำพูดติดหูกันบ่อยๆ ที่ว่า "แฟชั่นกับดนตรีเป็นสิ่งเดี่ยวกัน และมันต้องไปด้วยกัน" และผมก็เชื่อเหลือเกินว่ามันเป็นเรื่องจริง เมื่อมันแทรกซึมจนบางทีเราเองก็ไม่ทันได้รู้ตัว อาจมาจากรสนิยมการฟังเพลงบ้าง การใช้ชีวิตบ้าง หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมว่าแฟชั่นการแต่งตัวของเรา ก็เปรียบดั่งสมุดเดินทางที่บอกเล่าเรื่องราวของเราเช่นกัน และวันนี้ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับ จ๋าย ไททศมิตร ผู้ที่บุกเบิกให้วัยรุ่นตื่นตัวถึงคุณค่าของสิ่งของพื้นบ้านอย่างผ้าขาวม้า และการสื่อสารที่ไม่ใช่แค่บทเพลง





เริ่มสนใจเรื่องการแต่งตัวเมื่อไหร่....


จ๋าย : ตอนเด็กๆ ที่เริ่มสนใจการแต่งตัว คือต้องย้อนไปตอนมัธยมครับ ก็เป็นเด็กทั่วไปก็แต่งตัวตามเพื่อน ช่วงนั้นก็จะ HipHop คือแต่งตัว HipHop อะไรอย่างนี้ แต่มันเริ่มต้นมาครั้งแรก จาก Linkin Park ก่อน ฟัง Linkin Park ฟัง Limp Bizkit ช่วงนั้นกางเกง Dickies กับ Ben จะดังมาก เราก็ต้องหาเอามาใส่ แล้วก็จะมีช่วงนึงที่ Limp Bizkit จะดังมากๆ เราก็เริ่มอยากได้ 3 ส่วน แต่เป็นสีแดง เป็น Dickies แดง ​Ben สีแดงอะไรอย่างนี้ คือแบบตอนที่ได้มาแมร่งเท่มากเลย ตอนนั้นก็จะเริ่มแต่งตัวอย่างนั้นก่อน ก็คือ เสื้อยืด กับ กางเกง 3 ส่วน แต่พอขยับมาอีกสักหน่อย ก็เริ่มฟัง HipHop ละ ฟังพี่โจ้ โจอี้บอย , Thaitanium แล้วก็ Buddha Bless แล้วก็จะแต่งตัวเป็น HipHop กางเกงตัวใหญ่ๆ เสื้อยืดตัวใหญ่ๆ เราก็จะแต่งแบบนั้น แล้วก็มาช่วงที่เริ่มฟังวงร็อค ซึ่งวงแรกของไทยที่ฟังคือ วง Clash คือชอบพี่พลมาก ผมแบบพังค์อะไรอย่างเนี้ย ก็จะเริ่มแต่งตัวไปอีกแบบล่ะ ก็เริ่มใส่ขายาว แต่ดันมีวงนึงที่ดังแบบหลุดโผมาเลย คือ Retrospect ฮ่าๆๆๆ ยุคนี้คือยุคที่สุดยอดมาก เราใส่ขากางเกงขาเดฟตาม พี่แน็ป หมด แล้วก็เป็นเสื้อแบบตัดอ้อย ซึ่งผมก็แต่งตาม ก็เป็นอย่างนั้นเป็นเด็กทั่วไปอะไรอย่างนี้ จนที่มันเป็นจุดเปลี่ยนก็คือตอนเข้ากรุงเทพฯครับ เข้ากรุงเทพฯนี่ก็จำได้ว่า คือตอนที่เราแต่งเหมือนพี่แน็ปอ่ะ เราก็เชื่อว่าเราเท่เหมือนพี่แน็ป แต่ความจริงทรงมันไม่ได้อ่ะ ฮ่าๆ ก็จำได้ว่าเข้าสยามวันแรกนี่ใส่กางเกงขาเดฟ ขาดๆหน่อย ซื้อตามงานวัด รองเท้าแตะช้างดาว แล้วก็เสื้อตาห่าน ฮ่าๆ ไปเดินสยามอย่างมั่นใจมาก คือแบบ “กูเท่” เพราะว่าแถวหมู่บ้านนี่ แบบนี้คือเท่แล้ว แต่พอมาเรียนมัธยมปลาย คือรีไทร์จากการเรียนช่าง มาเรียนมัธยม คือเด็กมัธยมก็จะมีแฟชั่นนึงที่ใส่กันเยอะเลยคือ เสื้อยืดกับกางเกงนักเรียน ใส่กางเกงนักเรียนสั้นๆ ใส่เสื้อยืด แล้วก็รองเท้าแตะ ก็จะชิลๆ ก็จะใส่แบบนั้นอ่ะครับ แต่ว่าเราเริ่มจะชอบแฟชั่น แต่ว่ายังแต่งไม่เป็น ก็จะเริ่มจากการเลียนแบบก่อน นิตยสาร Cheese นี่ผมมีทุกเล่ม ผมซื้อแมร่งทุกเล่มเลย เข้า 7-Eleven นี่จะต้องซื้อๆ จนเปลี่ยนมาเป็น Looker นี่ก็ยังซื้ออยู่ แล้วก็แต่งตาม แต่งตามพี่ๆศิลปิน คนต่างๆเขาแต่งยังไงก็แต่งตามอะไรอย่างเนี้ย จนพอแต่งตามเรื่อยๆมันเกิดการเบื่อ มันรู้สึกว่า มันไม่ได้เติมเต็มเรา ก็เลยเริ่มลองผิดลองถูก คือผมเป็นคนชอบซื้อ เห็นแล้วแบบอยากซื้อ กูซื้อเลย ซื้อก็จะมาเก็บไว้ ใส่ไม่ใส่ไม่รู้ มันก็จะกองๆกัน พอเสื้อผ้าเราเยอะเนี้ย เราก็อยากจะ mix&match มัน ก็เริ่มจากการคุมโทนก่อน เริ่มจากสีก่อนอะไรอย่างเนี้ย แล้วก็แต่งตัวมาเรื่อยๆครับ สมัยมหาวิทยลัยก็แต่งมาเรื่อยๆ จนพอมันถึงปลายมหาวิทยลัยเนี้ย ผมว่ามันอาจจะเป็นเพราะวิถีชีวิตด้วย ผมทำฉากละคร การใส่เสื้อผ้าที่ดูสะอาด มันก็ดูจะทำงานยาก มันก็เลยกลับมาสู่เบื้องต้นพื้นฐาน ก็คือตอนที่เราอยู่ช่าง เราก็จะเปลี่ยนมาใส่แบบรองเท้าหัวเหล็กทำงาน กางเกงยีนส์ก็เป็นกางเกงยีนส์หนาๆหน่อย เสื้อก็จะเป็นเสื้อที่มันเลอะได้ แล้วก็พวกชุดช็อปอะไรอย่างเนี้ย พอใส่อย่างนี้เพื่อทำงานเรื่อยๆ มันก็เกิดความชิน แล้วพอมันชินเสร็จมันก็รู้สึกว่า “เห่ย มันก็สวยเหมือนกันนี่หว่า” รอยเปื้อนรอยขาดมันก็สวยเหมือนกันนี่หว่า ประจวบกับที่เราชอบของมือสองด้วย คือช่วงนั้นจะชอบของมือสอง ทีนี้เสื้อผ้าจากแต่ก่อนที่ผมอยู่ทิวไผ่งามผมจะซื้อแบรนด์เนม ซื้อห้างอะไรอย่างเนี้ย ผมเลิกหมดเลย ผมกลายเป็นซื้อของมือสองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มือหนึ่งคือซื้อน้อยมาก น้อยมากเลยอ่ะ ปีนึงคือนับได้ ส่วนใหญ่จะซื้อมือสองชั่งโล อะไรอย่างเนี้ยซะมากกว่า วิถีมันก็เริ่มเปลี่ยนๆไป




สถานที่ที่ไปช้อปปิ้งบ่อยๆ

จ๋าย : ความจริงนี่ไม่อยากบอกเลย ฮ่าๆๆๆ เดี๋ยวคนไปแย่ง ที่ผมช้อปคือ ก็จะมี Instagram ร้านประจำ 2-3 ร้าน แล้วก็มีคลองถมตลาดไทที่เปิดวันพฤหัสบดี แล้วก็มี Shinjuku outlet จะเป็นร้านชั่งโลของเกาหลี ที่มันจะเป็นชั่งโลของจากเกาหลี จากญี่ปุ่น มารวมกัน ก็จะไปเลือกคัดเอา ส่วนใหญ่จะเป็นมือสองหมดเลยครับ

แล้วอย่างเสื้อวงดนตรี จ๋าย อินไหม ?

จ๋าย : เสื้อวงนี่มันมาจาก การที่ผมเริ่มขายก่อน ตอนแรกไม่ได้อิน ไม่ได้เล่นมาตั้งแต่สมัยที่มันขายถูกๆอ่ะ ผมไม่ได้เล่นมา ไม่ได้ซื้อเลย ไม่ได้สนใจ แต่ว่ามันมีช่วงมหาวิทยลัยเนี้ย น้องๆที่อยู่ที่บ้านผม ที่อยู่ด้วยกัน เขาอินเสื้อวง แล้วก็ดูไลฟ์สดเสื้อวงบ่อย ผมก็แบบดูว่ามันดูอะไรกันวะ จนแบบวันนึงดูไปเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่า ผมอยากให้น้องมีงานทำ เพราะมันไม่มีงานทำกัน อยากให้มันมีรายได้ จะได้มีเงินเรียนหนังสืออะไรอย่างนี้ ก็เลยเอาตัวเองไปเรียนรู้ก่อน เพื่อที่จะเป็นช่องทางการขายให้น้อง พอไปเรียนเนี้ย วัฒนธรรมเสื้อวงมันดันลึกมาก การดูเสื้อวินเทจมันหลายอย่างมาก มันก็เริ่มรู้ไปเรื่อยๆ ใช้เวลาหลายๆปี รู้ไปเรื่อยๆๆ ก็เลยรู้ไปถึงช่องทางการเอา รู้ไปถึงเรื่องกระสอบ เสื้ออเมริกานู้นนี่นั่น มันก็เลยทำให้เรารู้ แต่ถามว่าอินไหม ผมไม่ได้อินขนาดนั้น แต่ว่ารู้ทุกอย่าง เมื่อก่อนเคยขายด้วย ตอนนี้ก็มีเก็บบ้าง เก็บแต่ Nirvana อย่างเดียว




จ๋าย มีรองเท้าคู่โปรดไหม แล้วประเภทรองเท้าที่จ๋ายใช้บ่อยๆเป็นแบบไหน ?

จ๋าย : ที่ผมใส่ขึ้นโชว์ตลอด คือผมจะใส่รองเท้าหนังเสมอ ซึ่งแปลก คือคนอื่นเขาจะใส่รองเท้าที่มันเดินสะดวก แต่ผมดันแบบชอบใส่รองเท้าหนังที่มันเป็นแบบหุ้มข้ออ่ะครับ แต่ไม่ถึงกับบูทนะ ที่ไม่มีสายอะครับ แบบสวมได้เลย คือรองเท้ามันปรับกับการแต่งตัวทุกอย่างได้ จะเป็นทางการก็ได้ จะไม่เป็นทางการก็ได้ ผมก็เลยชินกับรองเท้าแบบนี้ ก็คือจะมีรองเท้าสไตล์แบบเนี้ยเยอะมาก ก็จะใส่ขึ้นโชว์ด้วย ใส่ออกงานด้วย เป็นประจำอะไรอย่างเนี้ยครับ

เวลาขึ้นโชว์แบบเห็นมีกระทืบเท้าด้วย ไม่ปวดหรอ?

จ๋าย : ไม่ปวดนะ เหมือนเราจะมีคู่ที่มันแบบพอดีเท้าเราเลย แต่ว่ารองเท้าหนังส่วนใหญ่บางทีมันแข็งใช่ไหมครับ มันก็จะปวดไรเงี้ย แต่ผมก็จะไม่ปวด เหมือนแบบมันชินไปแล้ว ชินกับรองเท้าแบบนี้ไปแล้ว เคยใส่รองเท้าวิ่งแบบพี่ตูน Body Slam รู้สึกว่าตัวมันเบาเกินไป เหมือนมันไม่มีตัวถ่วงน้ำหนักอ่ะ มันเบาเกินเหมือนตัวมันลอยเกินไป แต่แก่ตัวไปก็คงจะต้องใส่แบบนั้นอ่ะครับ


รอยสักแรกของจ๋าย....

จ๋าย : รอยสักแรกนี่เป็นยักษ์ครับ ที่หน้าอกเนี้ย ยังอยู่เลย ก็คือเป็นเด็กทั่วไป เข้าร้านสักอยากสักเฉยๆแหละ แล้วก็ไปจิ้มเอา ช่างสักก็สักให้ ก็เป็นลายแรกที่สักครับ

รอยสักที่มีความหมายกับจ๋ายมากที่สุด

จ๋าย : ถ้ามีความหมายส่วนใหญ่จะเป็น Font ครับ เป็น Font ที่เป็นคำพูด คือหลังๆผมจะเลิกสักที่เป็นลายที่เป็นรูปแล้ว เพราะว่าผมพยายามหารูปที่มันจะสื่อสารสิ่งที่ผมจะเอามาแปะบนตัวอ่ะ พยายามหา แต่มันหาไม่ได้ คือพอไปเอาของคนนั้นมา ก็รู้สึกว่ามันเป็นของเขาอ่ะ รู้สึกว่ามันเป็นการเล่าแบบของเขาอ่ะ แต่ผมอยากจะเล่าความเป็นตัวเองของผมอ่ะ แต่มันไม่รู้จะเล่าเป็นรูปภาพยังไง เราก็วาดรูปไม่เก่งด้วย ก็เลยแบบสิ่งที่มันจะเล่าได้ตรงที่สุดก็คือ สัก Font ละกัน กลายเป็นว่าผมสัก Font เต็มไปหมดเลย ช่วงหลังๆจะสัก Font อย่างเดียว เป็นภาษาบาลีบ้าง เป็นภาษาไทยบ้าง คือผมรู้สึกว่ามันสื่อสารตรงๆเลย ไม่ต้องเข้าใจยาก ไม่ต้องอธิบาย แบบคนดูเห็นรอยสักผม เขาก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่ถ้าคนเห็นอันนี้แล้วอ่านออก เข้าใจในเบื้องต้นว่ากำลังจะสื่อสารอะไร คนๆนี้เป็นยังไงอะไรอย่างเนี้ย

แสดงว่าต้องการเล่าเรื่อง ต้องสื่อสาร ออกมาในทุกรูปแบบ

จ๋าย : ใช่ๆ คือเราต้องการสื่อสารครับ แล้วอีกอย่างนึงถ้าการสื่อสารนั้นมันเป็นประโยนช์ หรือคนอื่นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ผมก็รู้สึกว่ามันน่ายินดีที่จะทำ หลังๆก็เลยสักอะไรที่จะสื่อสารกับคนได้




ผ้าขาวม้า กับ จ๋าย ไททศมิตร

จ๋าย : คือมันไม่ได้มาจากวิธีคิดครับ คือผมว่าคนน่าจะรู้ถ้ามันมาจากการดีไซด์ คนน่าจะจับได้ คนน่าจะรู้ว่าแบบ “เห่ย นี่ตั้งใจเอามานะ” แต่ว่าผมอ่ะ ใช้ผ้าขาวม้าอยู่แล้ว ก่อนที่จะมาตั้งวง อาจจะเห็นว่าตอนนี้แต่งตัวเซอร์ แต่ก่อนหน้านี้อ่ะ เซอร์กว่านี้มากเลย คือทำตลาดกับน้องวี ที่เป็นผู้จัดการ ทำตลาดกัน มันก็จะเห็นผมตื่นมาเช้าๆใส่กางเกงเลย์ เสื้อกล้าม แล้วก็ผ้าขาวม้าผืนนึง รองเท้าแตะ มารดน้ำต้นไม้บ้าง ไปเช็คล็อคบ้างอะไรอย่างเนี้ย ก็คือเราแต่งตัวแบบนี้อยู่แล้ว เสื้อหม้อฮ่อมอย่างเนี้ยผมใส่เป็นประจำอยู่แล้ว ก็คือใช้อยู่แล้ว ด้วยความที่ผมเคยทำงานในโรงละคร ผ้าขาวม้าเนี่ย มันใช้ห่มได้ เพราะโรงละครผมหนาว แล้วพอผมหนาวไม่ต้องพกผ้าห่มไป ใช้เช็ดเหงื่อก็ได้ ใช้มัดนู้นนี่นั่น คือมันใช้ได้เยอะมาก นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมมีผ้าขาวม้าใช้ แล้วพอมาสู่วง ตอนที่ทำเพลงแรกๆกัน ก็เป็นที่คุยกันในวงนะ ว่า “พี่เอาออกไปได้ไหม” แต่ผมบอกว่า “ขออ่ะ ไม่เอาออกไปได้ไหม” คือรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่ปลอดภัย ผมรู้สึกแบบมันต้องมีอ่ะ ก็เป็นช้อยส์ที่ดี เป็นการเลือกที่ดีนะ ที่เอามันไว้ ตอนนั้นมัน accident ตรงที่ว่า ผมไม่มีสายสะพายกีต้าร์ด้วย คือผมไม่ใช่นักดนตรี มีแค่กีต้าร์ และก็ไม่ได้เตรียมไป พอไปถ่าย MV ตัวแรกเนี้ย ผมมีผ้าขาวม้าผืนนึง ผมก็เลยเจาะรูมันซะเลย แล้วทำเป็นสายสะพายกีต้าร์ มันเริ่มจากตรงนั้น แล้วทีนี้พอคน Related กับมันได้ ก็เลยกลายเป็นว่า วงก็ให้ผมใช้เสมอมา

รู้สึกยังไงที่เห็นวัยรุ่นหันกลับมาใช้ผ้าขาวม้า....

จ๋าย : ผมรู้สึกว่า ความจริงแฟชั่นยุคนี้มันเปิดเยอะมาก และมันก็มีหลายสไตล์ ทั้งเอา Retro กับมาแต่งใหม่ อะไรเยอะแยะมากมายผสมผสานกัน ผมว่าสิ่งที่มันเป็น Original ที่สุดของเรา แต่เราไม่เคยมองมันว่าสวยเลย ผมว่ามันไม่จริงนะ คือผ้ายีนส์ของญี่ปุ่น ก็จะมีความเป็นเฉพาะของญี่ปุ่น ของอเมริกาก็จะมีความเฉพาะของอเมริกา ของไทยก็มีความเฉพาะ ผมว่าเราควรจะต้องเห็นคุณค่าและก็ความสวยงามของมันก่อน ผมไม่เคยเชื่อเลยว่าของไทยมันจะเชย ผมรู้สึกว่าของไทย Original ไม่ว่าจะ OTOP ไม่ว่าจะผ้า ไม่ว่าจะภาษา ผมว่ามันไม่เชย และมันก็จะอยู่ไปตลอด ส่วนการที่เห็นน้องๆ เพื่อนๆ หรือว่าคนเริ่มใช้มากขึ้น ผมก็ดีใจนะ ดีใจที่ได้เห็นเขากลับมาใช้ ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมตรงนี้ เราก็อยากจะให้มันเกิดขึ้น




แสดงว่าแฟชั่นสำหรับจ๋าย ก็ยังคงเป็นสิ่งที่เล่าเรื่องอยู่ดี

จ๋าย : ก็คือเป็นสิ่งที่เล่าเรื่อง แต่ก็อย่างที่บอกว่า ที่มันออกมาเป็นไทย ที่มันออกมาเป็นผ้าขาวม้าขนาดนี้ มันเป็นเพราะตัวตนเรามากกว่าครับ ถ้าผมไม่ได้โตมาแบบนี้ ไม่ได้ใช้อยู่แล้ว มันก็คงไม่มี ก็คือการบอกเล่าตัวตน

เคยศึกษาข้อมูลของผ้าขาวม้าไหม ?

จ๋าย : คือการที่ได้ไปหลายๆที่ เราจะเห็นคนโพกผ้าขาวม้ามาใช่ไหม แล้วแบบแต่ละจังหวัด แต่ละที่เนี้ย มันจะต่างกันนะครับ คือผ้าอีสานก็ต่างกัน ผ้าของเหนือก็ต่างกัน ของอีสานที่หลักๆที่ผมเห็นมาเยอะมากคือผ้าคราม ซึ่งสวยมากเลย ผมก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมยังไม่มีแบรนด์ไหนเอาผ้าครามนี้ ไปตีเป็นแบรนด์เนม แต่เอาจริงๆแล้ว ราคามันก็แพงมากนะผ้าคราม ส่วนของเหนือก็จะเป็นผ้าอีกแบบนึง แล้วก็ลายทอ ลายถักของผ้า แต่ละภาคเนี้ย ต่างกันหมดเลยครับ ทุกวันนี้ผมเชื่อว่าการทอมือเนี้ย มันเริ่มจะน้อยลงทุกที แต่ก็จะมีคนที่เขาพยายามรักษาให้มันยังอยู่ ซึ่งผมมองว่ามันเป็นเสน่ห์มากเลยนะ คือการทอมือเนี้ย มันไม่ต่างกันเลยนะกับที่เราไปให้ค่ากับงานของฝรั่ง ที่เขาเรียกว่า Handmade ที่เขาทำมือ กระเป๋าปั้มมืออะไรอย่างเนี้ย ละนี้มันคือหัตถกรรมของบ้านเรา ผมว่ามันสวยและทรงคุณค่านะ แล้วผ้าแต่ละที่มันจะต่างกัน ถ้าดูดีๆจะเห็นได้ชัดเลย ราคาสูงก็มี ผ้าแต่ละอย่างใช้งานก็ต่างกันอีก แต่ถ้าลึกๆผมเองก็ไม่ค่อยรู้ลึกหรอก อันนี้ของภาคนี้นะ ของจังหวัดนี้นะ แต่ว่ามีบ้าง เพราะเวลาไปแต่ละจังหวัดเราก็ซื้อเก็บสะสมไว้

เคยคิดจะทำผ้าขาวม้าของ ไททศมิตร บ้างไหม ?

จ๋าย : มีคนถามบ่อย เอาจริงๆมันก็มีแบรนด์มาขอซื้อเลย ให้เราเป็นพรีเซนเตอร์ หรือขายในนามเรา แล้วแบ่งเงินกัน ผมเลยบอกว่า “ให้ผมขายอะไรก็ได้ แต่ผมจะไม่ขายผ้าขาวม้าเด็ดขาด” เพราะว่าผ้าขาวม้ามันไม่ใช่ของผม แล้วเป็นของใครก็ไม่รู้ เรายังตอบไม่ได้เลย เอาจริงๆมันเป็นองค์ความรู้ความคิดของไทยอ่ะ ที่สร้างมา แต่ตอนนี้เหมือนผมอาจจะเป็นคนนึงที่เป็นแรงขับเคลื่อน เป็นวงนึงที่ขับเคลื่อน แต่เอาจริงๆแล้วมันไม่ใช่ของเรา ความจริงเราสามารถเคลมมันได้เลยนะ และผมเชื่อเลยว่าถ้าไททศมิตรทำผ้าขาวม้า แฟนเพลงทุกคนจะมาซื้อผ้าขาวม้ากับไททศมิตร แต่ไม่ซื้อตามตลาดแล้ว ไม่ซื้อกับคุณป้า คุณยาย คุณลุงแล้ว แล้วอีกอย่างนึง พอผมตีเป็นแบรนด์เนี้ย มันจะราคาไม่ถูกแน่นอน มันจะแพง มันจะไม่ผืนละ 100 มันจะกลายเป็นผืนละ 900 มันจะผืนละ 1,000 มันจะแพงขึ้น ดังนั้นคนก็จะมาขิงกันว่า “นี่กูมีผ้าขาวม้าของไททศมิตรของแท้” ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่อ่ะ มันเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิด เราก็เลยแบบ เราจะทำอะไรก็ได้ เราจะไม่ทำผ้าขาวม้าแน่นอน





คำจำกัดความ แฟชั่น ของ จ๋าย ไททศมิตร

จ๋าย : ผมรู้สึกว่าทั้งดนตรีและแฟชั่น มันคือศิลปะ และศิลปะส่วนใหญ่มันเล่าเรื่อง จะบ่งบอกทั้งตัวตน จะสื่อสารกับคนอื่น หรืออะไรก็ได้ แต่เราต้องเข้าใจมันก่อนว่า งานศิลปะแต่ละรูปแบบ หรือแฟชั่นแต่ละรูปแบบเนี้ย มันมีทิศทาง มันมีความหมาย และมันมีคุณค่าของมันเอง อย่างเช่นเราจะแต่งตัวกางเกงสีเขียว เสื้อสีแดง มันก็เรื่องของคุณ แต่คุณจะให้คนอื่นไปเข้าใจคุณอ่ะ มันก็ทำไม่ได้ไง เพลงก็เหมือนกัน คุณอยากจะทำแบบอินดี้ใช่ไหม อยากทำเป็นแนวตัวเองมากๆเลย แต่พอทำออกมาแล้วคนฟังน้อย แล้วคุณบ่นเนี่ย ผมว่ามันน่าจะไม่ใช่ อย่างแรกเราต้องเข้าใจงานเราก่อน เข้าใจแฟชั่นหรือสิ่งที่เราชอบก่อน เพราะผมคงจะทำให้ใครมาแต่งตัวเหมือนผมไม่ได้หรอก และเขาก็คงจะทำให้ผมชอบและแต่งตัวแบบนั้น แล้วชอบแบบนั้นเลยไม่ได้เหมือนกัน มันมีความเป็นเฉพาะตัว มันถูกเล่าเรื่อง ว่าเราเสพอะไรบ้าง เราฟังอะไรบ้าง มันเลยทำให้เราแต่งตัวนั้นๆออกมา ผมรู้สึกว่ามันเป็นศิลปะอย่างนึง ที่บ่งบอกว่า “เห่ย คนๆนี้ใส่เสื้อแบบนี้ ฟังวงพังค์แน่เลยวะ” “คนๆนี้ แต่งตัวแบบนี้ ไอเนี้ยเพื่อชีวิต ไม่มีช้อยส์อื่นละ” คงจะคิดไม่ต่างจากอันนี้ เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ อะไรอย่างนี้อ่ะ มันทำให้เราสื่อสารกันง่ายขึ้น ผมว่าเหมือนสัตว์เลยนะ เวลาที่สัตว์มันดมกลิ่นกันอ่ะ อย่างผมเรียนช่างมา เด็กช่างก็จะมีเคมีอะไรบางอย่างที่แบบ “ไอเหี้ยนี่แมร่ง กูไม่ถูกชะตาอ่ะ” อะไรอย่างเนี้ย แต่สำหรับคนอย่างเราคือมีหนวด เราจะผ่านเซนเซอร์แรกของเด็กช่างไปก่อนเลย ซึ่งแฟชั่นเองก็เหมือนกัน เป็นงานศิลปะที่บ่งบอกสื่อสารว่า แต่ละคนเป็นยังไง มาจากไหน อะไรอย่างเนี้ย ถ้าให้จำกัดความ ผมคงใช้คำว่า “Natural” ก็คือ ธรรมชาติ คือร้อนก็อย่าไปใส่ให้มันร้อน หนาวก็อย่าไปใส่น้อยให้มันหนาว มีอะไรแค่ไหนยังไงก็ใส่ อันไหนที่มันขาดจนโป๊ แล้วเรารู้สึกไม่มั่นใจ ก็ไม่ต้องใส่สิ อันไหนที่ขาดเป็นรู แต่แบบ “เห่ย ใส่ได้นี่หว่า” มันก็ไม่ได้แย่ แถมมองมันสวยด้วยซ้ำ อะไรอย่างนี้ ก็ใส่ ผมรู้สึกว่ามันเป็น Natural คือ ธรรมชาติ อย่างผ้าขาวม้าไม่ต้องโพกตลอดก็ได้ คือถ้าวันนึงผมโพกมันจนกลายเป็นแบรนด์ แล้วแบบอากาศร้อนตับแตก ก็ยังจะเอามาโพกพันคอ มันก็คงไม่เหมาะ แต่คือเอามันมา พอร้อนก็เอามาพาดบ่า เก็บในกระเป๋าหรือเอามาเช็ดเหงื่อ แบบนี้มันถึงจะเรียกว่าธรรมชาติ แต่ถ้าจะแบบ “เห่ย เดี๋ยวคนไม่รู้เว้ย พันไว้ก่อนเว้ย” ผมว่ามันเริ่มจะไม่ธรรมชาติแล้ว ใช้ก็ใช้ ไม่ใช้ก็อย่าใช้ แค่นั้น





Watch video :



bottom of page