บันทึกยุคสมัย ผ่าน "Silence is Violence" บทกวีที่ก้าวข้ามกำแพง สู่สตรีมมิงมิวสิก "ตุล ไวฑูรเกียรติ"

"นี่คือสถาณการณ์ฉุกเฉินในนาทีเชื่องช้า
เมื่อท่านผู้นำเขียนจดหมายถึงเศรษฐีใจบุญ
เสียงสะเทือนย่อมกระหึ่มโดยไม่จำเป็นจะต้องอ่าน
เนื่องจากสิ่งที่ท่านรับรู้ เราก็รับรู้
สิ่งที่ท่านเห็น เราก็เห็น
สิ่งที่ท่านเชื่อ เราก็เชื่อ
แต่ท่านคงไม่ได้พูดอย่างที่ท่านเชื่อ
เราจึงไม่เคยได้พูด"
นี่คือบางช่วงบางตอนจากหนึ่งในบทกวี ของอัลบั้ม Silence is Violence ที่เขียนและอ่านโดย ตุล ไวฑูรเกียรติ ถ่ายทอดและนำเสนอออกมาในรูปแบบของ Spoken Word การถ่ายทอดบทกวีจากน้ำเสียงของผู้ประพันธ์ 16 บทกวี ที่ทำลายและก้าวข้ามผ่านกำแพง จากตัวอักษรบนแผ่นกระดาษ สู่โลกของ Streaming Music บันทึกยุคสมัย ทบทวน ตั้งคำถามถึงแง่มุมต่างๆของชีวิต ผ่านการตีความของกวี ในสถานะผู้สังเกตการณ์
จุดเริ่มต้นของ Silence is Violence
ตุล : ก็ Silence is Violence เป็นโปรเจคที่ทำขึ้นในช่วง Covid-19 พอดีนะครับ ช่วงล็อคดาวน์ ก็เป็นโปรเจคเล็กๆที่เราทำได้ โดยใช้ทรัพยากรไม่มาก เกิดจากการรวบรวมบทกวีนะครับ ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 62 - 63 แล้วเรานำมาคัดเลือกในสิ่งที่ว่าเราโดนใจ มันตรงกับเรา รวมถึงบทกวีที่เกิดขึ้นในช่วงของ Covid-19 ช่วงล็อคดาวน์ด้วย มาจำนวนนึง ซึ่งปกติคนเสพบทกวีของผม จะเสพผ่านหนังสือที่ออกไปผ่านการอ่าน แต่ว่าคราวเนี่ย ผมก็ลองอยากจะเล่นกับ New Media ก็เลยคิดว่าถ้าเรานำบทกวีแบบเนี่ย อ่านออกเสียง และนำให้ผู้ฟังฟังได้ โดยที่เขาไม่จำเป็นจะต้องซื้อหนังสือมาอ่าน และสามารถจะฟังที่ไหนก็ได้ เพราะมีช่องทางสตรีมมิง มันก็อาจจะเป็นการทำให้บทกวีเผยแพร่ไปในวงที่กว้างขึ้น

จุดประสงค์หลักจริงๆ ของโปรเจคนี้ ?
ตุล : มันก็คือการทำลายกำแพงออกไป คือผมอยากให้บทกวีสามารถอยู่ในหลายๆรูปแบบได้ อย่างต้นปีที่แล้ว ต้นปี 63 ช่วงก่อน Covid-19 มา ผมก็ได้นำบทกวีไปจัดเป็น Art Xhibition ร่วมกับกลุ่ม Slowmotion ชื่อว่า X The Xhibition ซึ่งตอนนั้นเราก็พยายามจะทำลายกำแพงว่า บทกวีมันสามารถอยู่ในพื้นที่ปิดในรูปแบบแกลเลอรี่ได้ไหม และถ้ามันเป็นแบบนั้น จะมีคนเดินทางเข้ามาฟังมันหรือเปล่า ส่วนคราวนี้มันเป็นการกลับกัน ก็คือเรานำบทกวีไปสู่พื้นที่ ที่เข้าถึงคนง่ายที่สุด นั้นก็คือพื้นที่ออนไลน์ ทางสื่อสตรีมมิง เพราะเดี๋ยวนี้คนก็ฟังเพลงกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทาง Spotify , Apple music หรือ Joox อะไรอย่างนี้ครับ ดังนั้นบทกวีเนี่ย พอมันไปอยู่ในช่องทางเหล่านั้น วิธีเสพมันก็ง่าย ไม่ต่างจากการที่คุณจะเสพเพลง ก็เลยเป็นความท้าทาย เมื่อผมเล่าเรื่องของผม ด้วยน้ำเสียงของผมเองออกไปแล้วเนี่ย ผู้ฟังจะตอบรับมันยังไง ซึ่งมันก็ได้รับการตอบรับมากเกินกว่าที่ผมคาดคิดนะครับ อย่างในปีที่ผ่านมา ก็สามารถจะนำบทกวีไปอยู่ใน Music Festival หลายๆอันได้ แล้วก็เชื่อว่าบทกวีกับดนตรีเนี่ย มันสามารถอยู่คู่กันได้ อย่างในยุค 60s เราจะเห็นเป็นเรื่องทั่วไปเลยที่ศิลปินเพลงกับกวีทำงานด้วยกัน อย่างไปดูคอนเสิร์ตของ Bob Dylan จะเห็น Allen Ginsberg ขึ้นมาอ่านบทกวีเป็นเรื่องปกติสามัญ ซึ่งผมก็อยากทำอย่างนั้นให้บ่อยๆ เรื่อยๆ จนคนมองว่าบทกวีไม่ใช่เป็นของแปลก เป็นของที่เขาจะเสพได้ ทุกวันๆ
อย่างในบ้านเราก็จะมี พี่พราย ปฐมพร
ตุล : พี่พรายก็เป็นคนที่มีอิทธิพลกับความคิดผมสูงเนอะ เขาก็ยังทำงานต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ซึ่งปฐมพรก็เป็นคนกระตุ้นให้ผมอยากแต่งเพลง และผมก็ยังติดตามงานของเขามาเรื่อยๆ มีโอกาสได้ร่วมงานกันบ้าง และทุกวันนี้ก็ยังทำงานอยู่ จะบ่อยหรือไม่บ่อยก็แล้วแต่ แต่ก็ยังทำงานอย่างต่อเนื่อง
จะเห็นว่าบทกวีทั้ง 16 บท บางบทก็มีดนตรีประกอบ บางบทก็ไม่มี....
ตุล : จริงๆแล้วเนี่ย ความตั้งใจผมเลยนะ ถ้ามันจะไปให้สุดทางเนี่ย สักวันนึงอ่ะ ผู้คนต้องสามารถ Enjoy กับบทกวี โดยที่ไม่มีดนตรีประกอบได้ เพราะว่าตัวบทกวีเอง โดยเสียงของผู้เล่าเองเนี่ย มันจะเล่าเรื่องราวสื่ออารมณ์ได้อยู่แล้ว แต่ก็นะครับ คล้ายๆกับเราจะหลอกให้คนกินยา เราก็ต้องมีน้ำให้เขาดื่มนิดหน่อย มันจะได้ไม่ติดคอ ดังนั้นเนี่ยบทกวีชุดนี้ของผม ก็เลยจะมีการนำเอา Sound Design เพื่อนๆที่อยู่ในแวดวงเดียวกันยื่นมือมาช่วยเยอะมากเลย ซึ่งจะทำให้การเสพบทกวีมันมีอรรถรสอีกแบบ เพราะว่า Sound Design ก็สามารถจะเป็น Background Ambient กระตุ้นอารมณ์ได้ในระดับนึง ซึ่งทุกๆครั้งที่เราไป Collaborate กับใคร บทกวีแม้จะเป็นบทเดียวกัน พอเราไปร่วมงานกับศิลปินเพลงที่ต่างกัน หรือ Background Music ที่ต่างกัน เราก็จะได้อารมณ์ต่างกัน อย่างปีที่แล้ว ผมก็นำบทกวีเหล่าเนี่ย ลองไปแสดงกับศิลปินอีกหลายๆท่าน เช่น คณะมงคลควัน ที่ทำเป็นไซเคเดลิกบูลส์ ผมก็ได้นำบทกวีนี้ไปอ่านกับเขา บางครั้งผมก็แสดงกับ คุณปั๊ม อพาร์ตเมนต์คุณป้า บางครั้งผมแสดงกับ คุณ Marmosets หรือ Yaak Lab ซึ่งเป็น Electronic music ทุกๆครั้งที่เราออกไปแสดง แม้เราจะอ่านบทๆเดียวกัน เมื่อดนตรีที่เราเล่นด้วยมันต่างกัน มันก็จะได้อารมณ์ที่ไม่เหมือนกันในแต่ละครั้ง

หมายความว่าดนตรีถูกทำขึ้นจากการตีความบทกวีในแต่ละบท
ตุล : ผมว่าแล้วแต่ศิลปินจะมีความรู้สึกกับบทบทนั้น อย่างผมก็จะส่งหลายๆบท ไปให้ศิลปินหลายๆท่านลองฟังดู ว่าอันไหนจะโดนใจเขา และเขาจะตีความออกมายังไง แล้วเราก็อิสระศิลปินเต็มที่ ที่จะตีความบทกวีของเรา เพราะผมเชื่อว่าหน้าที่ของผมจบแล้วที่ตัวอักษร ที่เหลือมันก็เป็นเรื่องของ แล้วแต่บรรยากาศมันจะพาไป แต่ถ้าจะไปให้สุดเนี่ย ผมว่าในอนาคตผมอาจจะออกอัลบั้มบทกวี ที่ไม่ต้องมีดนตรี Background เลยก็ได้
อย่างในบท "เลือนจำ" การอ่านก็จะเหมือนมีการใส่อารมณ์แบบกระชากๆ อันนั้นมันเป็นเพราะตัวบทกวีเอง หรือดนตรีประกอบที่นำพาไป
ตุล : คืออย่าง "เลือนจำ" มันก็เป็นลีลาของเรานะ ในลักษณะคล้ายๆ Hip-Hop มันจะมีความเป็นจังหวะจะโคน เสียงที่ใช้ก็ไม่ได้ใช้เสียงดนตรี แต่เราใช้เสียง Sound Effect จากโรงงานอุตสาหกรรม มา Loop เอาครับผม และมันก็เป็นอามรณ์ที่แบบ เราก็อยากจะกระแทกกระทั้น ซึ่งการอ่านกวีจากหนังสือเนี่ย เราจะไม่ได้รับอรรถรสแบบการฟังบทกวีจากผู้ประพันธ์ เพราะเราก็ไม่รู้หรอกว่า ตอนเราอ่านอยู่ผู้ประพันธ์เขาเขียนเร็วหรือช้า หนักหรือเบา แต่การได้ฟังบทกวีจากปากผู้ประพันธ์มันก็จะได้อรรถรสในแบบที่ผู้ประพันธ์อยากจะนำเสนอ
Silence is Violence คือการบันทึกยุคสมัย
ตุล : บทกวี 16 บท ใน Silence is Violence ส่วนใหญ่ จะเป็นเรื่องราวตั้งแต่ปี 62 - 63 ซึ่งปี 63 ก็รู้กันดีว่ามาจบตรงที่ยุคของ Covid-19 ดังนั้นในการบันทึกของยุคสมัยเนี่ย มันก็จะพบกับการเปลี่ยนแปลง เพราะ ปี 62 - 63 เป็นปีที่เข้มข้นนะ ในสังคมเรา และสังคมโลกด้วย มันมีเรื่องความกดดันทั้งเรื่องของการเมือง สังคมการปกครอง โรคระบาดที่มีผลต่อเศรษฐกิจคน มีผลต่อจิตใจคน ผมก็พยายามจะบันทึกหลายๆเรื่องราวนำมาถ่ายทอด โดยที่มันจะมีอยู่บางบท ที่นำมาจากบทกวีเก่าของผม เช่นบทที่ชื่อว่า "เช้าแล้ว" มันจะมาจากหนังสือ "ไม่รู้จักฉันไม่รู้จักเธอ" ซึ่งเรานำมาเพราะว่าเรารู้สึกว่าเราต้องการจะเบรคอารมณ์บางอย่าง เพื่อไม่ให้ Silence is Violence นั้น ดูตรึงเครียดเกินไป เราก็จะมีบทกวีบางอัน ที่มันน่ารื่นรมย์ หรือมันดูโรแมนติกเข้ามาบ้าง ซึ่งเรื่องราวหลายๆอย่าง ถ้าลองฟังดู มันจะมีตั้งแต่เรื่องหนักๆ อย่างเรื่องของการเมือง เรื่องของโรคระบาด เรื่องของความสับสนในใจตัวเอง รวมไปถึงเรื่องโรแมนติก เรื่อง Sci fi , อีโรติก , ลามกจกเปรต ก็มีครับ

"เช้าแล้ว" เหมือนเคย Perform ที่งาน Stone Free มาแล้วหรือเปล่าครับ ?
ตุล : ผมคิดว่าผมน่าจะเคยอ่าน เป็นบทที่ผมชอบ ซึ่งผม Perform บทนี้หลายครั้ง ในหลายๆที่ครับ ผมก็เลยคิดว่าผมทิ้งบทนี้ไม่ได้หรอก ผมจึงนำมาอยู่ใน Silence is Violence ด้วย มันเป็นการพูดถึงความรักในอุดมคติ ถึงความรักในระดับจักรวาล ผมเคยไปอ่านที่ Stone Free ผมจำไม่ได้ว่าเวลาเท่าไหร่นะ ไปอ่านกับ คุณปั๊ม และก็ คุณอาร์ม ที่อยู่วง The Paradise Bangkok Molam International Band เนี่ย ไปเล่นกัน 3 คนเนี่ยครับ
พี่ตุลเหมือนจะไม่ค่อยเชื่อในเรื่องของการสมรสสักเท่าไหร่ แต่ในบทกวีของพี่ ก็เหมือนจะมีการพูดถึงความรักอยู่เหมือนกัน ถึงแม้มันจะเป็นมุมที่ต่างออกไป
ตุล : ผมว่าความรักมันเป็นความรู้สึกของมนุษย์นะครับ มันก็เกิดขึ้นได้ แล้วมันก็มีความรักในหลายๆแบบนะ ความรักที่เกิดขึ้น มันไม่จำเป็นจะต้องเป็นจะต้องอยู่ในขนบธรรมเนียมที่เราถูกปลูกฝังกันมา เพราะสุดท้ายแล้วเนี่ย มนุษย์เราใช้ชีวิตมาเนี่ย เราไม่ได้ใช้ชีวิตกันตามสัญชาตญาณของสัตว์ที่เราเป็นเต็มที่หรอก มันมีเรื่องของประเพณี มันมีเรื่องของสังคม มันมีเรื่องของสิ่งที่ถูกปลูกฝัง ซึ่งสิ่งที่ถูกปลูกฝังมันอาจจะขัดกับสัญชาตญาณจริงๆที่อยู่เบื้องลึกในใจเราหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ในฐานะมนุษย์ที่อยากจะอยู่กันแบบมีสันติ มันก็จะสร้างข้อผูกมัดนี้ขึ้นมา ซึ่งบางทีข้อผูกมัดนี้มันกลายมาเป็นกำแพงที่ทำให้เราใช้ชีวิตแบบไม่เต็มที่หรือเปล่า ผมก็มีคำถามอยู่เสมอแหละว่า คนเราที่จะรักกันมันจำเป็นจะต้องสมรสกันหรอ มันจะต้องมีสัญญาว่า เราจะต้องอยู่ด้วยกันไปจนวันแก่ และสุดท้ายเมื่อมันไม่เป็นอย่างนั้นอ่ะ มันก็เกิดขึ้นได้บ่อยๆ และตรงที่ผ่านมา แค่ Chapter , Chapter เราจะเรียกมันว่า ความรักหรือเปล่า? ซึ่งสำหรับผมมองว่า ทุกๆการเดินทางในความสัมพันธ์มันก็มีค่าในตรงนั้นอยู่
ยังงี้เราจะมองได้ไหมว่า กวีเนี่ย มักมองและพูดถึงสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสายตาปกติชนมอง ?
ตุล : ผมว่ากวีก็มีหน้าที่ตั้งคำถามนะ สำหรับผมนะ ตั้งคำถามต่อสิ่งที่มันเป็นอยู่ โดยที่เราเปิดคำถามว่า มันจะเป็นไปได้ไหม ถ้าโลกมันจะเป็นอีกแบบ โลกในจินตนาการมันจะเป็นแบบนี้ โลกในอุดมคติมันจะเป็นแบบนี้ และกวีก็มีหน้าที่สะท้อนความรู้สึก บาดแผล ของตัวเองออกมา สะท้อนออกมาให้เกิดความงาม เพราะถ้าเรามัวแต่จมอยู่กับบาดแผลเนี่ย มันก็จะทำร้ายจิตใจเรา อย่างสำหรับผมเนี่ย บทกวีมันคือการเยียวยา โลกที่เราอยู่มันมีสิ่งกระตุ้นให้เราเกิดบาดแผลในใจเยอะ แต่ภาษา ตัวอักษร ดนตรี มันเป็นสิ่งที่เยียวยาเรา เรานำความทุกข์ ความขุ่นข้อง ขมุกขมัวในจิตใจเราอ่ะ ระบายมันออกมาในกระดาษ และเปลี่ยนมันเป็นสิ่งที่สวยงามได้ และเราก็นั่งจ้องมองมัน สักพักเราอาจจะเรียนรู้ว่า อะไรกันแน่ที่ทำให้เราขุ่นข้องหมองใจขนาดนั้น อะไรที่ดลใจให้เราอยากจะเขียนเรื่องเหล่านั้น อะไรที่ทำให้เราอึดอัดขนาดนั้น จนบางคืนเรานอนไม่หลับถึงต้องออกมาเขียนบทกวี

Silence is Violence เกิดขึ้นในช่วงปี 62 - 63 ฉะนั้น ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมีเรื่องการเมือง
ตุล : ก็เป็นช่วงคุกรุ่นของการเมืองเรา เราเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างเนอะ ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้คนเริ่มกล้าพูด ในสิ่งที่ไม่เคยกล้าพูดในอดีต ผู้คนเริ่มตั้งคำถามต่อค่านิยม Value ความเชื่อในอดีตที่เราปลูกฝังกันมา และผมคิดว่ามันก็เป็นผลพวงที่เกิดจากบาดแผลของการเมืองในอดีตแหละ เรามีความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาเป็น 10 ปี ตั้งแต่ปี 49 มันมีการถกเถียง การปะทะทางความ ของคิดความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน และก็เป็นอย่างนี้เรื่อยๆมา จนมาถึงประมาณปี 63 ยิ่งช่วงโรคระบาดเข้ามา มันยิ่งทำให้ทุกอย่างสุกงอม และผมก็เห็นว่าสังคมมันกำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันก็มีหลายคนที่ไม่อยากให้มันเปลี่ยน แต่มันก็คงจะห้ามสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ บทกวีมันก็เล่าเรื่องตรงนั้นด้วย เล่าในสถานะผู้สังเกตนะ ว่าอะไรมันเกิดขึ้น แต่เราก็ไม่สามารถจะให้คำตอบได้หรอก ว่ามันจะไปทิศทางไหน ได้แค่ตั้งคำถาม
เหมือนมีทำกับ Zweed n' Roll ในรูปแบบของ Live ด้วย....
ตุล : บทสุดท้ายชื่อ "ราตรีสวัสดิ์ราตรี" ก็ไปบันทึกเสียงมาจากคอนเสิร์ตของ Zweed n' Roll จัดขึ้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 63 ก่อนจะเกิด Covid-19 ล็อคดาวน์พอดี ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่ผมได้ Collaborate กับ Zweed n' Roll ทำเพลงด้วยกันชื่อว่า "ฉันเชื่อในการจากลา ฉันจึงมาหาหนทางของเรา" นะครับ เพื่อไปแสดงในแกลเลอรี่ ในงาน X The Xhibition ด้วยนะครับ พอผมได้รับเชิญไปในคอนเสิร์ตของ Zweed n' Roll เขาก็อยากจะให้ผมนำบทกวีไปอ่านประกอบดนตรี ผมก็เลยนำบทกวีชื่อ "ราตรีสวัสดิ์ราตรี" ซึ่งผมคิดว่าเนื้อหาของมันน่าจะเข้ากับท่วงทำนองของเพลงของ Zweed n' Roll ได้ดี และก็ Perform สดๆ ที่ Moonstar Studio และก็เก็บเสียงตรงนั้นแหละ ขอยืมมาลงในอัลบั้ม Silence is Violence เป็นบทปิดท้ายของอัลบั้ม
อย่างนี้มันมีความแตกต่างกันไหมครับ กับการทำอัลบั้มเพลง ที่ก็จะมีการเรียงของลำดับเพลงให้อัลบั้มนั้นๆเป็นไปตามทิศทางของอัลบั้ม อย่าง Silence is Violence ที่เป็นรูปแบบ Spoken Word ?
ตุล : คือผมว่า แม้แต่ทำหนังสืออ่ะ ก็ต้องมีการจัดวางนะ บทแรก บทสอง จะสลับยังไง? มีภาพประกอบขั้นหรือเปล่า? ก็เหมือนกัน เวลาเรามาวางอัลบั้มบทกวีให้เป็นเสียง ก็ต้องลองมาวางในเพลลิสต์ ITunes ก่อนนี่แหละ ผมก็ลองมาวางก่อนว่าอันไหนเริ่มก่อน อันไหนเริ่มหลัง และยิ่งเรามีแทร็กที่มีทั้งดนตรี และก็ไม่มีดนตรีด้วย และบางแทร็กก็เป็นแทร็กประกอบซาวด์ธรรมชาติอะไรอย่างเนี่ย ก็ยิ่งจะต้องนำมาจัดวาง เพื่อไม่ให้ดนตรีอยู่ใกล้กับขยุกของดนตรีเกินไป หรือเสียงเปล่าๆอยู่ใกล้กับเสียงเปล่าๆเกินไป ก็พยายามทำให้การฟังเนี่ย มีความใกล้เคียงกับการดูภาพยนตร์ เวลาคุณดูภาพยนตร์มันจะมีบางช่วงที่เงียบ บางช่วงที่เสียงดังตึงตัง บางช่วงที่เป็นช่วงที่ขมุกขมัว ดังนั้นก็ ทำให้ 16 บทเนี่ย มีหลายรสชาติที่ฟังแล้วค่อนข้างที่จะไหลลื่น และไม่เลี่ยนและน่าเบื่อ ถ้า Mood ใกล้กันอยู่ใกล้กันเกินไปก็อาจจะน่าเบื่อ เราก็พยายามจะกระจายๆ 16 บท ไปในอารมณ์ที่หลากหลาย เหมือนเรานั่งเล่นโรลเลอร์โคสเตอร์ไปละกัน

จากเมื่อก่อนคนจะมองว่าบทกวีเป็นเรื่องที่เข้าใจยากและไกลตัว มาในวันนี้มันมีผลตอบรับเป็นยังไงบ้าง....
ตุล : ก็เห็นว่ามีคนเข้ามาเสพบทกวีมากขี้นนะ ก็อยากให้คนมองว่าบทกวีไม่ใช่ของแปลก เมื่อก่อนคนจะบอกว่าบทกวีจะต้องยากใช่ไหม ซึ่งผมก็คิดว่าจริงๆมันไม่ได้ยากเลย บทกวีมันสามารถจะอยู่ในทุกท่วงทำนอง มันจะอยู่ในร้านเหล้าก็ได้นะ อย่างผมก็เคยไปอ่านที่ Studio Lam หรือว่า Junk House อย่างเนี่ย ก็เคยไปอ่าน บทกวีสามารถไปอยู่ใน Music Festival ก็ได้ ปีที่แล้วผมก็ได้ Perform เยอะหน่อย ก็รู้สึกว่าคนก็เริ่มเปิดโอกาสเปิดใจ ให้บทกวีมีที่ยืนมากขึ้น ในอนาคตผมก็หวังว่าผมอยากจะอ่านบทกวีใน Music Festival หลายๆที่เนอะ เช่นถ้าเราสามารถจะไป Collaborate กับนักดนตรี Jazz ใน Jazz Festival ก็ได้ หรือเราอยากจะไป Collaborate นักดนตรีโฟล์คใน Festival ของโฟล์คก็ได้ หรือเราอยากจะไป Collaborate กับนักดนตรี Metal ก็เป็นไปได้ เพราะบทกวีมันเป็นที่กว้างอ่ะ มันไม่มีกฎเกณฑ์อะไร เราสามารถจะนำอักษรเปล่าๆ กับเสียงของเราเนี่ย ไปวางไว้บนซาวด์ประกอบที่หลากหลายได้ ในยุค 60s เราจะรู้สึกเลยว่าบทกวีกับดนตรี มันไม่ใช่เป็นอะไรที่ห่างเหินกันเลย มันมาคู่กัน ในดนตรีมีความเป็นกวี ในกวีก็มีความเป็นดนตรี ศิลปะทั้ง 2 แขนงนี้ มันเอื้อประโยชน์ให้กัน
สุดท้ายนี้อยากให้พี่ตุล ฝากอะไรถึงน้องๆ หรือคนที่อาจจะไม่เคยอ่านบทกวี ที่กำลังอยากจะลองเข้ามาในโลกใบนี้ มาอ่าน มาลองเขียน และระบายความในใจใน เพราะบางคนก็อาจจะมีเรื่องในใจเยอะ แต่ก็ไม่รู้จะพูดให้ใครฟัง บทกวีอาจเป็นอีกวิธีในการเยียวยาความรู้สึกตรงนี้ของพวกเขา
ตุล : สำหรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเขียนกวีนะครับ ตอนนี้กวีมันมีพื้นที่เปิดมากมายนะครับ ผมสังเกตเห็นหลายๆคนเริ่มมาเขียนบทกวีใน IG Story ใน Instagram เป็นคำเล็กๆแล้วก็โพส แล้วก็ได้รับความนิยมด้วย ดังนั้นผมคิดว่า เมื่อเรามีความรู้สึกในใจ เราอยากจะถ่ายทอดออกไป มันเป็นการที่เชื่อมโยงเรากับโลกภายนอกได้ ดังนั้นอย่าอายที่จะเปิดความคิด หรือว่าความรู้สึกของคุณออกมา เพราะว่า มันก็ยังมีคนอีกตั้งหลายคนบนโลกนี้ ที่อาจจะมีความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับเรา บทกวีมันสามารถเริ่มได้ที่กระดาษในสมุดบันทึกของเรา มันเริ่มได้ใน Laptop ของเรา มันเริ่มได้ใน Instagram หรือ Facebook อย่างผมเองก็มีวิธีการเขียนเปลี่ยนไปเยอะนะ เมื่อก่อนจะเขียนกวีด้วยกระดาษปากกา หลังๆนี้ก็เขียนใน Ipad ก็มี เขียนบนกระดาษแล้วผมก็ถ่ายรูปแล้วค่อยโพสก็มี หรือผมจะเขียนจากใน Laptop ก็บ่อยขึ้น ซึ่งผมคิดว่าเทคโนโลยีมันเอื้ออำนวยให้เราสร้างงานกวีได้ง่ายขึ้น แล้วก็เผยแพร่ได้ง่ายขึ้น กวีบางบทเราอาจจะรวบรวมเพื่อเผยแพร่เป็นหนังสือ แต่บางอันมันอาจจะเกิดขึ้นฉับไวจนเราอยากจะแชร์ออกไปใน Instagram หรือ Facebook เลยก็ได้ครับ

ฝาก Silence is Violence หน่อยครับ
ตุล : ก็อยากให้เข้าไปติดตามเพจผมนะครับ ชื่อ บทกวีของ ตุล ไวฑูรเกียรติ ใน Facebook นะครับ และก็เข้าไปที่ Youtube Channel : Sanamluang Music ลองไปชมดูครับ มันจะมี Official Audio อัลบั้ม Silence is Violence และมันก็มี Music Video ตัวนึงด้วย เรียกว่า Poetry Video ละกัน ชื่อว่า "สามัญใหม่" อันนี้กำกับโดยเพื่อผม ชื่อคุณ สุริเยศ วัณโณ เป็นวีดีโอตัวเดียวที่เพิ่งทำออกมาสำหรับอัลบั้ม Silence is Violence นี้ครับ

Watch video :