"บทเพลงแห่งการเปลี่ยนแปลง" จาก Blowin’ in the Wind ถึง คาราวาน
สวัสดีครับ นี่คือครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผมจะมานั่งเขียนและเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวงการดนตรีให้แฟนๆ Free Bird ได้อ่านกันนะครับ โดยเรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “บทเพลงแห่งการเปลี่ยนแปลง” ต้องออกตัวก่อนว่าทั้งหมดเป็นเพียงข้อมูลที่ผมหาได้และเป็นเพียงแต่มุมมองของผมเอง ผิดถูกตกหล่นอะไร ก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

ภาพที่ชัดเจนที่สุดก็คือการเปลี่ยนแปลงที่อเมริกา ซึ่งอเมริกานั้น ถือว่าเป็นศูนย์รวมของบทเพลง การเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะขยายไปถึงแอฟริกาใต้ และมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ โดยการใช้บทเพลงเป็นจุดศูนย์รวมในการเรียกร้องให้ประชาชนออกมาเปลี่ยนแปลงสังคม ที่พวกเขาคิดว่าน่าจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ฉะนั้นบทเพลงการเปลี่ยนแปลงในวันนี้ เราจะโฟกัสไปที่อเมริกาก่อนนะครับ ด้วยความที่พวกเขาเป็นดินแดนที่มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์เข้ามาแสวงหาโอกาสในการดำรงชีวิต ก็ทำให้อเมริกาเป็นประเทศที่มีหลากหลายทางเผ่าพันธุ์ ซึ่งทำให้การรวมชาติเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ทำให้เกิดการปะทะกันโดยเริ่มจาก ภาคเหนือ และภาคใต้ (NORTH & SOUTH The American civil war) มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายมากมาย บทเพลงของการเปลี่ยนแปลง

ในยุคอเมริกาที่เกิดสงครามกลางเมือง ก็จะเป็นบทเพลงบลูส์ ของแอฟริกาผิวดำที่อพยพเข้ามาในอเมริกา แต่พวกเขามาในฐานะทาสที่ถูกเกณฑ์ ไปทำงานในไร่ฝ้าย ฉะนั้นบทเพลงบลูส์ก็คือความขมขื่นความคับแค้นใจในชะตาชีวิตของพวกเขา ที่กลายเป็นพลเมืองที่ไม่มีค่าในสายตาของคนผิวขาว เพลงบลูส์จึงกลายเป็นบทเพลงแห่งการต่อสู้ทางชนชั้นของอเมริกา ซึ่งก็มีหลายๆเพลงในยุคเริ่มต้น อย่างเพลงของ Robinson Ville, Mississippi ก็จะคร่ำครวญถึงเรื่องราวการถูกกดขี่ การถูกโบยตีโดยนายทาสผิวขาว แต่ว่ายุคที่เห็นได้ชัดก็คือยุคแห่งการต่อสู่ระหว่างโลกสองข้าง ก็คือ โลกเสรี หรือ อเมริกา และโลกของคอมมิวนิสก็คือ โซเวียส รัสเซีย สองค่ายนี้สู้กันดุเดือดเลือดพล่านกันเลยทีเดียว ทั้งเรื่องของการทำสงครามจิตวิทยา สงครามเย็นการโฆษณาชวนเชื่อ ประชาชนในอเมริกาไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามแบบนี้ เพราะอเมริกานี่ทำตัวเป็นตำรวจโลก ส่งทหารเข้าไปแทรกแซงในการสู้รบของแต่ละประเทศที่เห็นชัดเจนก็คือสงครามเวียดนาม คนอเมริกันมีความรู้สึกว่า สงครามเวียดนามได้ทำลายคนอเมริกันที่ไม่รู้เรื่องราวด้วย มีบทเพลงหลายบทเพลงที่ต่อต้านสงครามเวียดนามในยุคนั้นคือยุค 60s’ ยุคที่มีเพลงต่อต้านสงครามเวียดนามเยอะมาก เป็นเพลงกบฏ แต่พวกเขาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยก็เดินขบวนกันออกมาต่อต้าน ไม่ให้มีการส่งลูกหลานไปตายในสงครามเวียดนาม เพราะฉะนั้นยุค 60s’ จึงเป็นยุคที่ผู้คนรับรู้สิทธิของตัวเองในการที่จะไม่เห็นด้วยต่อนโยบายของรัฐบาลประธานาธิบดีนิกสัน พวกเขามีความเห็นว่าบทเพลงเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ในการที่จะนำออกมาปลุกเร้าให้ออกมา ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลของอเมริกา

คนที่มีบทบาทมากที่สุดในการทำให้สังคมเกิดความสำนึกต่อการเปลี่ยนแปลงก็คือนักเขียน นักกวีนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงนั้นก็คือ Bob Dylan เขาเป็นคนปฏิวัติบทเพลงด้วยกีต้าร์โปร่งเพียงตัวเดียว เขาแสดงให้เห็นพลังของบทเพลงผ่านแค่กีต้าร์ตัวเดียว ถ้ามันมีพลังมากมายเพียงพอเนื้อหาสาระของเพลงที่ปลุกเร้าให้ผู้คนออกมาต่อต้านได้แค่กีต้าร์โปร่งตัวเดียวก็พอแล้ว จุดนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเพลงที่เขาเรียกว่าเพลงโฟล์ค ก็คือเพลงที่ใช้กีต้าร์ตัวเดียว และเพลงโฟล์คที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของ Bob Dylan ก็คือเพลงที่มีชื่อว่า Blowin’ in the Wind เขาตั้งคำถามในเพลงนี้ว่าเราจะต้องย่ำไปบนความตายของประชาชนอีกเท่าไหร่ เราถึงจะได้เห็นสงครามสงบ คำตอบนั้นล่องลอยอยู่ในสายลม ก็เป็นที่มาของเพลง เขาไม่ได้สรุปว่าจะต้องทำอย่างไรกับสังคม แต่เป็นการทิ้งคำถามให้ผู้คนเอาไปคิดต่อว่า เราจะหยุดเรื่องราวของสงครามนี้ได้อย่างไร แล้วเราจะต้องเดินไปบนถนนอีกกี่สายถึงจะทำให้อำนาจรัฐหยุดฟังประชาชน เป็นบทเพลงที่ยิ่งใหญ่มากเลยครับ บทเพลงนี้บอกไว้ว่า “ถนนสักกี่สายที่คนเราจะต้องเดินย่ำไปกว่าจะบรรลุถึงซึ่งความเป็นคน ทะเลสักกี่เวิ้ง ที่นกพิราบขาวต้องบินฝ่าข้ามไป กว่าจะได้หลับพักผ่อนบนหาดทราย กระสุนปืนใหญ่สักกี่ลูก ที่พวกเขายิงออกไป กว่าสันติภาพนั้นจะมาถึง คำตอบนั้นล่องลอยอยู่กลางสายลม เพื่อนเอ๋ย คำตอบนั้นล่องลอยอยู่ตามสายลม เวลาอีกสักกี่ปี ที่ขุนเขาสามารถยืนอยู่ได้ กว่าจะถูกชะล้างลงสู่ทะเล เวลาอีกสักกี่ปี ที่บางคนถูกกักขัง กว่าจะได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ จะทำได้สักกี่ครั้ง ที่คนเราจะเบือนหน้าหนี เพื่อแสร้งว่าเขาไม่ได้เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น คำตอบนั้นล่องลอยอยู่ตามสายลมเพื่อนเอ๋ย”


ศิลปินอีกท่านหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมากในการที่จะทำให้บทเพลงของเขาเพลงนี้โด่งดังก้องไปทั่วโลกและก็กลายเป็นบทเพลงอมตะที่ทุกคนยังลำลึกอยู่เสมอนั้นก็คือ บทเพลงที่มีชื่อว่า Imagine ของศิลปิน John Lennon ถ้าเราจินตนาการถึงว่าโลกนี้ไม่มีศาสนาโลกนี้ไม่มีพรมแดน โลกนี้ไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีผิวพรรณมาแบ่งแยก โลกนี้ก็จะเกิดความสุข แต่นั้นก็เป็นเพียงจินตนาการ คือเป็นความใฝ่ฝันสูงสุดของเขา ที่เล่าเรื่องราวที่แท้จริง ซึ่งมันยังไม่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ครับ โลกก็ยังเต็มไปด้วยสงคราม โลกก็ยังเต็มไปด้วยการต่อสู้ ระหว่างผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ ศิลปินอีกคนที่น่าสนใจก็คือ Bob Marley เขามีบุคลิกลักษณะคล้ายกับ John Lennon คือ อุทิศตนให้กับการต่อสู้ด้วยบทเพลงแห่งการเปลี่ยนแปลง ชาวแอฟริกาที่อยู่ในแถบนู้นไม่เคยมีความสงบ เพราะว่าสงครามในแอฟริกาเกิดขึ้นกับทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นในคองโก ในมารีย์ อูกันดา เคนย่า ในแถบนั้นจะมีเรื่องราวการต่อสู้เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวันจนกระทั่งถึงวินาทีนี้ ก็ยังไม่สงบ จนกระทั่งลามมาถึงตะวันออกกลางในยุคนี้ เช่น ซีเรีย ลิเบีย ที่กำลังล้างผลานกันอยู่ ทุกวันนี้ยังไม่สงบ บทเพลงที่ยิ่งใหญ่ของ Bob Marley ก็คือบทเพลง No woman no cry ความหมายที่แท้จริงของบทเพลงของ Bob Marley เขาบอกว่าเป็นเพลงที่เขียนขึ้นมาเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรี คือเรียกร้องให้สตรีที่อยู่ในประเทศของเขาออกมาร่วมต่อสู้ ผู้หญิงอย่ามัวแต่ร้องไห้อย่างเดียว สิ่งที่เขาเรียกร้องก็คือ ผู้หญิงไม่ควรถูกมองว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ ที่ต้องให้ผู้ชายปกป้องเพียงอย่างเดียว ผู้หญิงควรมีสิทธิที่เท่าเทียมกัน บทเพลงของ Bob Marley หลายเพลงสอนให้ชาวแอฟริกาเอาไปขับร้องในการต่อสู้

ในท้ายที่สุดแล้วประวัติศาสตร์โลก ก็ได้จารึกไว้ว่าโลกคอมมิวนิสต์ เป็นฝ่ายพ่ายแพ้เห็นได้จากการล่มสลายของโซเวียต โลกของประชาธิปไตยเป็นโลกที่เจริญแล้วในยุโรป พวกเขาผ่านการต่อสู้มานานแล้ว เช่นเดียวกับเอเชียของเรา เอเชียนี้มีบทเพลงของการต่อสู้มานานเหมือนกัน ที่เห็นได้ชัดคือ การที่ประชาชนชาวพม่าถูกบีบให้ยอมจำนนโดยโลกาภิวัฒน์ พม่าเปิดประเทศเพื่อต้องการประชาธิปไตย ในสาธารณะรัฐประชาชนลาวก็ปฏิวัติการปกครองไปแล้ว เขมร ก็เหมือนกันครับ ผ่านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาเยอะแล้วและอยู่ระหว่างการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พัฒนาความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในชาติไปสู่ระบบประชาธิปไตย นั้นหมายความว่า ในเอเชียทั้งหมดอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ กลับมาในบ้านเราการต่อสู้ด้วยบทเพลง ด้วยการใช้เครื่องดนตรีศิลปวัฒนธรรมของบทเพลงเข้ามาต่อสู้เพื่อให้ประชาชนสำนึกถึงหน้าที่ของตนเองที่มีอยู่ในฐานะประชาชนคนไทยก็คือ “คาราวาน” คาราวานใช้บทเพลงในการต่อสู้ปลุกจิตสำนึกให้คนคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ หลายๆอัลบั้มของคาราวานมีคุณค่ามาก เช่นเพลง นกสีเหลือง , สันติภาพ , คืนรัง และอีกหลายๆเพลง อัลบั้มของคาราวาน คืออัลบั้มที่ให้กำเนิดเพลงเพื่อชีวิต เป็นวงดนตรีวงแรกที่เอาคำว่าเพื่อชีวิตมาใช้ เพลงของพวกเขานั้นพูดถึงความยากจนของประชาชนที่ถูกกดขี่ ในรัฐบาลเผด็จการของ จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม ในยุคที่ปกครองโดยทหาร คาราวานได้ชื่อว่าเป็นผู้นำทางด้านวัฒนธรรมในการเอาบทเพลงไปปลุกเร้าผู้คนบนเวที เพราะฉะนั้น คาราวานก็ถือว่าเป็นหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการนำบทเพลงแห่งการเปลี่ยนแปลง แห่งการต่อสู้ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนชาวไทย


จะเห็นได้ว่าเพลงแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ในการต่อสู้นั้น กำเนิดมาทุกยุคทุกสมัย Do you hear the people sing บทเพลงนี้ใช้ในการปฏิวัติฝรั่งเศส จนกระทั้งสำเร็จลง บทเพลงนี้เป็นบทเพลงที่ยิ่งใหญ่ ถามถึงผู้ปกครองว่าประชาชนอยากจะได้อิสรภาพ เสรีภาพ ฉะนั้น จงฟังเรา นั้นก็คือบทเพลงแห่งการเปลี่ยนแปลง ไอริชมีบทเพลงหนึ่งที่บอกว่า คืนอำนาจการปกครองให้กับประชาชนชาวไอริช เป็นบทเพลงของ Paul McCartney สมาชิกของวง The Beatles คือเรียกร้องให้อังกฤษคืนอำนาจให้กับประชาชนชาวไอริช เพลงนี้ก็เป็นบทเพลงที่ยิ่งใหญ่อีกเพลงหนึ่งของชาวไอริชที่ใช้ในการต่อสู้ที่จะปลดปล่อยตัวเองจากการปกครองของอังกฤษ
Albert Camus นักเขียนฝรั่งเศสเคยบอกว่ามนุษย์นั้นเกิดมาเพื่อเสรีภาพ เพราะฉะนั้น บทเพลงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย จีน แอฟริกาใต้ สกอตแลนด์ หรือไอซ์แลนด์ พวกนี้ล้วนแล้วแต่เป็นแนวรบทางด้านวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง แม้กระทั้งประเทศไทยของเราเอง จุดเริ่มต้นของเพลงแห่งการต่อสู้โดยเริ่มต้นจากวงคาราวาน ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป ซึ่งไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ คำตอบนั้นคงจะล่องลอยอยู่ตามสายลม อย่างที่ Bob Dylan ได้กล่าวเอาไว้ และนี้ก็คือบทเพลงแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่เราได้นำมาเสนอกัน ก็หวังว่าเพื่อนๆจะชอบกันนะครับ